ปาดังเบซาร์ คือ เมืองเล็กๆ ชายแดนใต้ ที่อยู่ติดกับรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซียตำบลปาดังเบซาร์ เป็นบริเวณพื้นที่ทับซ้อนไม่ชัดเจนว่าเป็นพื้นที่ของประเทศไทยหรือมาเลเซีย ปาดัง แปลว่า พื้นที่ราบ เบซาร์ แปลว่า กว้างใหญ่ หมู่บ้านปาดังเบซาร์ฝั่งไทย เดิมสังกัดตำบลทุ่งหมอ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลาต่อมามีการแยกหมู่บ้านในตำบลทุ่งหมอออกมาส่วนหนึ่งแล้วให้หมู่บ้านส่วนที่แยกออกมาอีกตำบลหนึ่งตั้งชื่อตำบลใหม่แห่งนี้ว่า ตำบลปาดังเบซาร์ แยกจากตำบลทุ่งหมอ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2557 เพราะตำบลทุ่งหมอมีพื้นที่กว้าง ยากแก่การปกครอง และตำบลปาดังเบซาร์เป็นตำบลติดต่อกับชายแดนประเทศมาเลเซีย อยู่ในเขตการปกครองของอำเภอสะเดา
เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2539 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศจัดตั้ง องค์การบริหารส่วนตำบลปาดังเบซาร์ ต่อมาองค์การบริหารส่วนตำบลปาดังเบซาร์ได้ขอยกฐานะจากองค์การบริหารส่วนตำบลปาดังเบซาร์เป็นเทศบาลตำบล ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2556 เนื่องจากมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ความต้องการด้านสาธารณูปโภคและสาธารณูปการเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความเจริญของท้องถิ่นและประโยชน์ในการปรับปรุงการบริหารสาธารณะให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นและเพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในการกระจายอำนาจและความเป็นอิสระของท้องถิ่น โดยมี นายอรัญ สุวรรณรักษา เป็นนายกเทศมนตรีตำบลปาดังคนแรก
ตราสัญลักษณ์ของเทศบาลตำบลปาดัง ประกอบด้วย วงกลมสองชั้นซ้อนกัน ชั้นในเป็นรูปกำแพง และมีรูปช้างอยู่ด้านหน้ากำแพง ระหว่างกลางเส้นรอบวงทั้งสองวง มีข้อความภาษาไทย “เทศบาลตำบลปาดัง” และ “อำเภอสะดา จังหวัดสงขลา” และมีดวงดาวสองดวงคั่นกลางข้อความทั้งสองข้าง ข้างละ หนึ่งดวง
ความหมาย
ตราสัญลักษณ์ของเทศบาลตำบลปาดัง มีความหมายดังนี้
กำแพง หมายถึง กำแพงชายแดนซึ่งกั้นระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย ซึ่งตำบลปาดังเบซาร์ มีพื้นที่ติดกับชายแดนประเทศมาเลเซีย
ช้าง หมายถึง วัดถ้ำเขารูปช้าง ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของตำบลปาดังเบซาร์ และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวตำบลปาดังเบซาร์
เทศบาลตำบลปาดังเป็นเมืองที่น่าอยู่ มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติพร้อมทั้งความเจริญทุก ๆ ด้าน เนื่องจากเป็นเมืองชายแดนที่มีพื้นที่ติดต่อกับประเทศมาเลเซีย มีการติดต่อค้าขาย เดินทางไปมาหาสู่กัน ประกอบธุรกิจกับประเทศมาเลเซีย และมีสถานที่ท่องเที่ยวและเป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาเพื่อยึดเหนี่ยวจิตของคนทั้งสองประเทศ คือ วัดถ้ำเขารูปช้าง ภายใต้การบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาลของเทศบาลตำบลปาดัง ที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยระบบการบริหารจัดการยุคใหม่ ที่เน้นความรวดเร็ว กระชับ ฉับไว ส่งผลให้ประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข โดยมีหลักธรรมทางศาสนา เป็นแนวทางการดำเนินชีวิตและเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ